คุณค่าแบรนด์ (Brand Equity) กับ ธุรกิจแก๊สหุงต้ม
บทความโดยฝ่ายวิจัย บริษัท ยูเค คอนซัลทิง จำกัด
บริษัทในเครือบริษัท ยูเค แวลูเอชั่น แอนด์ เอเจนซี่ จำกัด
ธุรกิจแก๊สหุงต้ม ถือว่าเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไป เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วต้องอาศัยแก๊สหุงต้มเป็นเชื่อเพลิงในการทำอาหาร แก๊สหุงต้มจึงนับได้ว่าเป็นสินค้าที่จำเป็นในการใช้ชิวิตประจำวัน เป็นสินค้าที่ขายง่าย ขายได้ทุกวัน ไม่ตกรุ่น และไม่เน่าเสีย ธุรกิจแก๊สหุงต้ม ถ้ามองในแง่ของผู้ประกอบการแล้ว สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ (1) ธุรกิจปั๊มแก๊ส LPG และ (2) ธุรกิจร้านค้าแก๊ส อีกทั้งธุรกิจแก๊สหุงต้มยังเป็นสินค้าที่ถูกควบคุมราคา ทำให้ราคาของสินค้าของผู้ผลิตแต่ละรายไม่แตกต่างกันมากนัก ดังนั้นผู้ผลิตจึงต้องวางกลยุทธ์การตลาดในการให้ผู้ใช้รับรู้ถึงคุณค่าแบรนด์ของตนให้มากที่สุด เพื่อครองส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น
ในปัจจุบันมีผู้ผลิตและผู้นำเข้าแก๊สหุงต้มอยู่ประมาณ 4 รายใหญ่ๆ ซึ่งในปี 2554 ประเทศไทยใช้แก๊สหุงต้มประมาณ 6.89 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าการตลาดคือ 1.25 แสนล้านบาท โดยที่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เจ้าของแบรนด์ ปตท ครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดที่ร้อยละ 38.9 โดยมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 1.9% YoY รองลงมาคือ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมิคัลส์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของแบรนด์ สยามแก๊ส และ บริษัท ยูนิคแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมิคัลส์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของแบรนด์ ยูนิคแก๊ส ครองส่วนแบ่งการตลาดรวมกันที่ร้อยละ 26.7 โดยมีส่วนแบ่งลดลงประมาณ 3.3 % YoY ถัดมาคือ บริษัท เวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของแบรนด์ เวิลด์แก๊ส ครองส่วนแบ่งการตลาดเท่าเดิมที่ร้อยละ 19.0 ที่เหลือเป็นบริษัทอื่นๆ รวมกันที่ร้อยละ 15.4 โดยมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 1.4% YoY
ที่มา : ฝ่ายวิจัย บริษัท ยูเค คอนซัลทิง จำกัด (ตุลาคม 2555)
โดยทั่วไปแล้ว คุณค่าแบรนด์ของธุรกิจแก๊สหุงต้มจะอยู่ที่การรับรู้แบรนด์ของผู้บริโภคหรือลูกค้า การจดจำเบอร์ร้านค้า การจดจำยี่ห้อหรือแบรนด์ สิ่งที่จะทำให้ลูกค้าจดจำลักษณะเหล่านี้ได้ คือ ถังแก๊ส เพราะไม่มีลูกค้าคนไหนจำเบอร์โทรศัพท์ของร้านแก๊สได้ นอกเสียจากว่ามีเบอร์ของร้านแก๊สติดอยู่ที่ถังแก๊ส เมื่อเวลาแก๊สหมด ก็สามารถดูเบอร์โทรศัพท์และแบรนด์จากถังแก๊สได้ทันที และยังถือว่าเป็นการโฆษณาแบรนด์ที่ดีทางหนึ่งอีกด้วย
ธุรกิจร้านขายแก๊สส่วนใหญ่แล้วจะเป็นธุรกิจครอบครัว และเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยปัจจัยการจัดส่ง เพราะธุรกิจร้านขายแก๊สเป็นธุรกิจที่ไม่ค่อยเห็นลูกค้ามารับสินค้าที่ร้าน ส่วนมากจะอาศัยการจัดส่งของร้านค้า และเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยความอดทน ขยัน ความระมัดระวังและความรวดเร็ว อีกทั้งทำเลที่ตั้งของร้านค้าก็ถือว่า มีส่วนสำคัญต่อธุรกิจประเภทนี้ เนื่องจาก ถ้าสถานที่ที่ต้องไปส่งแก๊สอยู่ไกล เวลาที่ใช้ในการส่งแก๊สก็จะมากขึ้น ดังนั้นโอกาสในการขยายธุรกิจประเภทนี้ต้องตั้งทำเลการค้าอยู่ในแหล่งชุมชน และเจ้าของร้านควรจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยให้มาก เนื่องจากธุรกิจร้านขายแก๊ส ตามมุมมองของผู้บริโภคหรือผู้ใช้ ถือว่าเป็นธุรกิจที่อันตราย ถ้ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ความเสียหายย่อมมีมากขึ้นตามขนาดของร้านค้า
อีกทั้งธุรกิจร้านขายแก๊สยังจำกัดด้วยเรื่องของจำนวนการใช้ของลูกค้า ส่วนใหญ่แล้ว บ้าน 1 หลัง จะมีถังแก๊ส 1 ใบ เท่านั้น หรือถ้าเป็นร้านค้าทั่วไปก็จะมีถังแก๊สอย่างมาก 3-4 ถัง ใช้หมุนเวียนกันไป และลูกค้าจะสั่งก็ต่อเมื่อแก๊สในถังหมด อีกทั้งการขนส่งส่วนใหญ่ร้านค้าจะใช้มอเตอร์ไซต์ ทำให้มีข้อจำกัดในการขนส่งแต่ละครั้ง ดังนั้นธุรกิจร้านขายแก๊สจึงไม่สามารถทำเป็นร้านขายส่งได้
ธุรกิจแก๊สหุงต้ม ถือว่าเป็นธุรกิจที่เห็นความแตกต่างของสินค้าได้ยาก เพราะลูกค้าไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า คุณภาพสินค้าแบรนด์ใดดีกว่ากัน ดังนั้นมาตรฐานตัวสินค้าจึงดูไม่แตกต่างกัน สิ่งที่จะทำให้เกิดความแตกต่างกันอยู่ที่มาตรฐานการผลิต มาตรฐานการขนส่ง มาตรฐานในการติดตั้ง หรือแม้กระทั่งการรับโทรศัพท์ ซึ่งหลายสิ่งเป็นคุณค่าที่ลูกค้าต้องการ