คุณค่าแบรนด์ (Brand Equity) กับ น้ำมันพืช
บทความโดยฝ่ายวิจัย บริษัท ยูเค คอนซัลทิง จำกัด
บริษัทในเครือบริษัท ยูเค แวลูเอชั่น แอนด์ เอเจนซี่ จำกัด
น้ำมันพืชเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการประกอบอาหารของแม่บ้านหรือร้านค้า ในปี 2554 น้ำมันพืชมีมูลค่าตลาดประมาณ 25,000 ล้านบาท โดย น้ำมันปาล์ม ครองส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด ประมาณร้อยละ 65 รองลงมาคือ น้ำมันถั่วเหลือง ร้อยละ 25 น้ำมันรำข้าว ร้อยละ 7 และน้ำมันชนิดอื่นๆ อีกร้อยละ 3 ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่แล้ว น้ำมันปาล์มเหมาะสำหรับอาหารประเภททอด น้ำมันถั่วเหลือง และน้ำมันชนิดอื่นเหมาะสำหรับอาหารประเภทผัด
สำหรับแบรนด์น้ำมันปาล์ม พบว่า แบรนด์มรกต มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด ประมาณร้อยละ 37 รองลงมาคือ แบรนด์เกสร ร้อยละ 22 แบรนด์หยก ร้อยละ 17 แบรนด์ลีลา ร้อยละ 12 และแบรนด์อื่นๆ อีกร้อยละ 12 ตามลำดับ
ที่มา : ฝ่ายวิจัย บริษัท ยูเค คอนซัลทิง จำกัด (ตุลาคม 2555)
ส่วนน้ำมันถั่วเหลือง แม้ว่าจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดต่ำกว่าน้ำมันปาล์มก็ตาม แต่ก็เป็นน้ำมันพืชที่คนส่วนใหญ่นิยมบริโภคมากกว่า โดยในปี 2554 ที่ผ่านมา พบว่า แบรนด์องุ่น เป็นแบรนด์ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดของน้ำมันถั่วเหลืองสูงสุด ประมาณร้อยละ 65 รองลงมาคือ แบรนด์กุ๊ก ร้อยละ 20 แบรนด์ทิพ ร้อยละ 10 และแบรนด์อื่นๆ อีกร้อยละ 5 ตามลำดับ
ที่มา : ฝ่ายวิจัย บริษัท ยูเค คอนซัลทิง จำกัด (ตุลาคม 2555)
เนื่องจากน้ำมันพืชเป็นสินค้าที่ถูกควบคุมราคา อีกทั้งในปัจจุบันยังต้องมีการนำเข้าวัตถุดิบสำหรับผลิตน้ำมันพืช ทำให้แต่ละแบรนด์ไม่สามารถที่จะแข่งขันทางด้านราคาได้ ดังนั้นผู้ผลิตแต่ละแบรนด์จึงต้องหากลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อที่จะให้แบรนด์ของตนเองเข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภคให้ได้ ซึ่งแต่ละแบรนด์จะตั้งชื่อให้จดจำง่าย เพื่อเป็นที่จดจำของผู้บริโภค และบางแบรนด์ยังได้มีการผสมสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เพื่อให้ผู้บริโภคที่เน้นทางด้านสินค้าเพื่อสุขภาพได้เลือกใช้
การโฆษณาก็นับเป็นช่องทางหนึ่งที่จะทำให้ผู้บริโภคสามารถจดจำแบรนด์ได้ ในปัจจุบันนอกจากการโฆษณาตามทีวีแล้ว แบรนด์น้ำมันพืชก็ยังอยู่ตามรายการทำอาหารทุกรายการ อีกทั้งผู้ผลิตยังต้องมีการวางผลิตภัณฑ์ให้ทั่วถึงและแพร่หลาย เพราะน้ำมันพืชเป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่ผู้บริโภคจะมีความภักดีต่อสินค้าค่อนข้างต่ำ เนื่องจากว่าในความคิดของผู้บริโภคจะรู้สึกเสมอว่า น้ำมันพืชไม่ว่ายี่ห้อไหนก็มีคุณภาพไม่แตกต่างกัน จึงมีแบรนด์น้ำมันพืชใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ดังนั้นเจ้าของแบรนด์หรือผู้ผลิตควรที่จะใส่ในใจเรื่องของช่องทางการจัดจำหน่ายให้ทั่วถึง และครอบคลุมทุกพื้นที่เพื่อที่จะรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดไว้
นอกจากนี้ การส่งเสริมการตลาดหรือโปรโมชั่นก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ทางการตลาดที่ขาดไม่ได้เช่นกัน ซึ่งโปรโมชั่นของน้ำมันพืชที่เห็นกันอย่างคุ้นตา ก็คือ การลดราคาตามโมเดิร์นเทรดหรือซุปเปอร์มาเก็ต จะสังเกตเห็นว่า เมื่อแบรนด์ใดทำการลดราคาสินค้า แบรนด์นั้นจะขายดีขึ้นมากจนหมดชั้นวางสินค้าดังที่เห็นกันอยู่บ่อย ๆ
น้ำมันพืชเป็นนับว่าสินค้าบริโภคที่จำเป็นสำหรับทุกครัวเรือน และเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคพร้อมที่จะเปลี่ยนยี่ห้อ หรือแบรนด์อยู่ตลอดเวลา การที่จะครองส่วนแบ่งการตลาดให้ได้นานที่สุดนับว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายของผู้ผลิตหรือเจ้าของแบรนด์เลยก็ว่าได้