เนื่องจากวิธีการบัญชีเดิมสำหรับสัญญาเช่าตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 17 (TAS 17) เรื่อง สัญญาเช่า ได้กำหนดให้จัดประเภทสัญญาเช่าเป็น 1) สัญญาเช่าการเงิน หรือ 2) สัญญาเช่าดำเนินงาน และบันทึกบัญชีสำหรับสัญญาเช่าทั้งสองประเภทนี้อย่างแตกต่างกัน โดยไม่ได้กำหนดให้ผู้เช่ารับรู้สินทรัพย์และหนี้สินที่เกิดขึ้นจากสัญญาเช่าดำเนินงาน ซึ่งส่งผลให้สัญญาเช่าหลายรายการไม่ถูกรับรู้เป็นสินทรัพย์และหนี้สินในงบแสดงฐานะการเงิน ทั้งที่ สิทธิการใช้สินทรัพย์ (right-of-use) ที่เป็นสัญญาเช่านั้นตรงกับข้อกำหนดและนิยามของสินทรัพย์และหนี้สิน
ทั้งนี้ วิธีการบัญชีใหม่ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 16 (IFRS 16) เรื่องสัญญาเช่า จึงกำหนดให้ผู้เช่ารับรู้ สิทธิการใช้สินทรัพย์ เป็นสินทรัพย์ (right-of-use asset) และรับรู้หนี้สินจากภาระผูกพันที่เกิดขึ้นจากสัญญาเช่าเข้ามาในงบการเงิน ซึ่งจะส่งผลให้ให้สินทรัพย์และหนี้ สินที่เคยอยู่นอกงบแสดงฐานะการเงินได้มาอยู่ในงบแสดงฐานะการเงินอย่างเป็นทางการ และถือเป็นการเปิดเผยข้อมูลสะท้อนสภาพความเสี่ยงทางการเงินและเงินทุนของผู้เช่าได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
การเปลี่ยนแปลงมาตรฐานเรื่องสัญญาเช่าดังที่กล่าวข้างต้นจะส่งผลกระทบต่อกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (PAEs) รวมถึงรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ และกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (NPAEs) ที่เลือกทำบัญชีโดยใช้มาตรฐานฯ ชุดใหญ่ (TFRS for PAEs) นอกจากนี้ยังส่งผลต่อกิจการที่เป็นผู้เช่าสินทรัพย์โดยเฉพาะกิจการที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กิจการในกลุ่มธุรกิจขนส่งและสายการบิน ค้าปลีก สื่อสาร โรงพยาบาล กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตเหล็ก กิจการโรงแรม กิจการพลังงาน โดยจะกระทบมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับมูลค่าของสัญญาเช่าที่ทำไว้ว่ามากน้อยขนาดไหน
ทั้งนี้ มูลค่าของสิทธิในการใช้สินทรัพย์ จึงต้องถูกทำการประเมินเพื่อประกอบมาตรฐาการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 16 สัญญาเช่า (Leases) กิจการต่างๆ ควรมีการเตรียมความพร้อมสำหรับ IFRS 16 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในประเทศไทยในปี2563